Blue Ocean Strategy...(2)
หากธุรกิจของเราทำการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่แล้ว มีคู่แข่งขันจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆนานาเข้าต่ำสู้กัน จนทำให้ราคาต่ำลงและส่วนต่างกำไรต่ำลงไปด้วย และในที่สุดธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่รอดในสถานการณ์ดังกล่าว
แนวคิดของกลยุทธ์บลูโอเชี่ยน กิจการควรหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่มีจำนวนกิจการที่ดำเนินงานอยู่มาก และการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนไม่คุ้มค่า แต่กิจการควรจะสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยหา "บลูโอเชี่ยน" ที่คลื่นลมสงบ ไม่มีการสู้รบปรบมือกัน กล่าวคือการเฟ้นหาและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดก้าวเข้ามาดำเนินงานก่อนนั่นเอง ทำให้ไม่มีการแข่งขันแย่งลูกค้ากัน แต่จะเป็นการพยายามสร้างดีมานต์ขึ้นมาใหม่ การตัดราคากันและกัน ก็จะไม่มี ทำให้ลูกค้าไม่มีการเปรียบเทียบราคาระหว่างกิจการในอุตสาหกรรม ธุรกิจจึงจะสามารถตั้งราคาที่มีกำไรพอสมควรและได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจได้รับความโดดเด่นทางด้านแบรนด์ โดยจะสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นในใจของลูกค้าว่าเป็นผู้ที่เข้ามาก่อนเป็นรายแรก(First Mover) จับฐานลูกค้าที่กว้างขวางได้ก่อน และครอบครองแหล่งวัตถุดิบได้ก่อนคู่แข่งขันรายอื่นๆ
มักจะมีการเข้าใจกันว่า กิจการที่จะใช้กลยุทธ์บลูโอเชี่ยน ต้องมีการค้นคว้าหาเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยพัฒนามาก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในการสร้างอุตสาหกรรมบลูโอเชี่ยน จะเป็นการสร้างแนวความคิดใหม่ของธุรกิจเท่านั้น เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกิจการต่างๆ กรณีของเครือมาบุญครองที่หันมาสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยการผลิตและจำหน่ายนมแพะ ในลักษณะของอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ โดยได้มีการนำเข้าแพะนมพันธุ์ดีจากต่างประเทศ มาเลี้ยงในไทยโดยมีโรงรีดนมแพะอัตโนมัติ ที่ได้มาตรฐาน ได้รับ อย.จากกระทรวงสาธารณสุข และยังมีการสร้างความรู้ให้ผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษของนมแพะ แต่ในกรณีของการสร้างขยายสายผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นการพัฒนารสชาติใหม่ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือการนำเสนอเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กลงและทำงานเร็วขึ้น อาจจะมิใช่กลยุทธ์บลูโอเชี่ยนซะทีเดียว เพราะยังมุ่งเน้นการแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดิมๆ แย่งชิงลูกค้ากลุ่มเดิม มิได้สร้างดีมานต์ใหม่ๆ
ขณะที่บลูโอเชี่ยนเป็นการสร้างขอบเขตของธุรกิจใหม่ๆ และพัฒนาฐานลูกค้าขึ้นมาเป็นของตนเอง ทำให้ขอบเขตของการเจริญเติบโตไม่มีขอบเขตที่จำกัด หากกิจการสามารถสร้างธุรกิจใหม่ตามแนวคิดบลูโอเชี่ยนได้ น่าจะสร้างผลตอบแทนและศักยภาพในการเติบโตได้สูง โดยไม่ต้องผจญกับการแข่งขัน ทำให้เกิดความมั่นคงในกระแสรายได้มากยิ่งขึ้น
Source: http://www.sarinaccount.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=422272&Ntype=7
03 February 2008
Blue Ocean Strategy (2)
Posted by Trirat at 2/03/2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment