กลยุทธ์ Blue Ocean Strategy (BOS)
การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ ธุรกิจต้องค้นหา "นวัตกรรมธุรกิจ" ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมมิใช่เพียงแค่ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆ แต่ต้องเป็น ความคิดใหม่ๆที่สามารถขายได้ หรือ การทำให้ความคิดใหม่ๆ มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ แหล่งที่สำคัญที่สุดของการเกิดนวัตกรรม อยู่ที่ "ลูกค้าหรือตลาดการแข่งขัน" เพราะจะแสดงถึงความต้องการของผู้บริโภค ความมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คู่แข่งนำหน้าเข้ามาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์สู้ศึกธุรกิจขาลง(Blue Ocean Strategy-BOS) ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบCompetitive Advantageหรือการเอาชนะคู่แข่งขัน โดยศึกษาถึงจุดอ่อนจุดแข็งของสินค้ายี่ห้ออื่น และเราจะขึ้นนำเป็นผู้ตลาดได้อย่างไร เปรียบเสมือนนั่งเรือสำเภาไปทำสงครามจนเลือดนองทะเล ซึ่งไม่ได้ทำให้ธุรกิจเติบโตและมีการทำกำไรอย่างแท้จริง แต่เมื่อ2 ปีที่ผ่านมามีคนมองว่าเราควรมองหาโอกาสที่จะเปิดตลาดใหม่ที่ยังไม่มีใครเข้าถึง เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆแบบไร้คู่แข่ง เหมือนการเดินเรือออกไปหาทะเลในน่านน้ำใหม่ๆ ซึ่งก็คือ Blue Ocean นั่นเอง
หัวใจของBlue Ocean Strategy ก็คือการสร้างมูลค่าทางนวัตกรรม(Value Innovation) ให้แก่สินค้าหรือบริการ อันจะทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งต่างจากการมองหาตลาดใหม่โดยมุ่งไปที่Niche Market(ตลาดที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจง)ซึ่งจะทำให้ได้ลูกค้าแคบลงและการผลิตในปริมาณน้อย แต่การสร้างValue Innovation จะมุ่งไปที่Mass Market ที่มีลูกค้าจำนวนมากรออยู่ แต่ทั้งนี้ระดับราคาของสินค้าหรือบริการจะต้องไม่สูงเกินไป เพราะกลุ่มลูกค้าค่อนข้างหลากหลายและมีความสามารถในการจับจ่ายที่แตกต่างกัน กลยุทธ์การสร้างValue Innovation มิใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ต่างจากเดิมคือ Blue Ocean มีเครื่องมือในการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ที่องค์กรสามารถนำมาปรับใช้เพื่อนำไปสู่ตลาดใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
กรอบการดำเนินการ มีอยู่ 4 ขั้นคือ
1.การพิจารณาองค์ประกอบที่ไม่มีความสำคัญ ให้ขจัดออกไป ทั้งนี้เพื่อตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป
2.การดูว่าองค์ประกอบใดที่มีมากเกินความจำเป็น และสามารถปรับลดลงได้หรือไม่ เพื่อลดต้นทุนส่วนเกิน
3.การดูว่าองค์ประกอบใดที่มีน้อยเกินไปและสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้เหนือกว่ามาตรฐานโดยทั่วไปได้บ้าง ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างเพื่อก้าวไปสู่ตลาดใหม่
4.การดูว่าองค์ประกอบใดที่บริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันไม่เคยทำมาก่อนและเราสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นวิธีการเปิดตลาดใหม่โดยนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์
กรณีตัวอย่าง เช่นสายการบินแอร์เอเซีย ที่มีจุดขายด้านราคาตั๋วที่ต่ำมากเพื่อสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเวลาเดินทางที่สั้นลงมากกว่า จะสนใจกับความสะดวกสบายในการเดินทางที่บางครั้งดูจะมากเกินความจำเป็น โดยแอร์เอเซียได้ใช้วิธีตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เช่นไม่มีบริการเสริฟ์อาหารและเครื่องดื่ม ใช้วิธีจองตั๋วผ่านระบบออนไลน์ ใช้เครื่องบินขนาดเล็กและอุปกรณ์ภายในเครื่องบินเป็นแบบง่ายไม่หรูหรา
จากภาวการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงไม่ว่าจะด้วยจากเหตุปัจจัยใด ซึ่งมีผลทำให้นักธุรกิจไม่มั่นใจในเสถียรภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน และทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจมาถึงทางตัน จึงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากการมองหาตลาดใหม่
อย่างไรก็ดีหากคิดที่จะผลักดันธุรกิจให้ก้าวไปสู่ตลาดใหม่โดยใช้กลยุทธ์Blue Ocean แล้ว ต้องลงมือทำอย่างจริงจังทำงานเป็นระบบ ที่สำคัญต้องสร้างทัศนคติเชิงบวกและปลุกเร้าให้พนักงานทุกคนพร้อมใจกันทำงานไปในทิศทางเดียวกัน หากเป็นองค์กรธุรกิจขนาดเล็กอาจจะเริ่มจากการระดมสมองในองค์กรก่อน โดยการเปิดรับฟังไอเดียจากฝ่ายต่างๆ หรืออาจเซตทีมงานขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ลักษณะงานที่มีความซับซ้อน ก็จำเป็นต้องจ้างทีมงานที่ปรึกษาเข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ เพราะการหาคนซึ่งมีความคิดที่เป็นกลางเข้ามาดูแลก็ทำให้เรามองเห็นภาพต่างๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ข้อสำคัญที่สุดคือ ธุรกิจต้องเข้าใจคอนเซ็ปของกลยุทธ์นี้อย่างแท้จริงเสียก่อน เพราะหากคุณขับเคลื่อนกลยุทธ์โดยปราศจากความเข้าใจ แทนที่จะพาธุรกิจข้ามไปสู่ทะเลสีครามแห่งใหม่ อาจจะล่มตั้งแต่เริ่มแล่นใบออกจากฝั่งก็นเป็นได้
24 September 2007
กลยุทธ์ Blue Ocean Strategy (BOS)
Posted by Trirat at 9/24/2007
Labels: Blue Ocean Strategy Articles
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment