Blue Ocean Strategy กลยุทธ์เด็ด หรือแฟชั่น
บางท่านอาจจะเคยได้ยิน Blue Ocean Strategy กันมาบ้าง แต่เชื่อว่าส่วนมากจะเริ่มสงสัยแล้วว่า Blue Ocean Strategy คืออะไร หนังสือ Blue Ocean Straetgy เคยขาดตลาดไประยะหนึ่งทั้งที่เอเชียบุคส์และศูนย์หนังสือจุฬา และช่วงหลังก็เริ่มมีองค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งเริ่มจัดให้มีการสัมมนากันเรื่องของ Blue Ocean Strategy กันมากขึ้น
แนวคิดของ Blue Ocean นั้นมาจากนักวิชาการสองคนชื่อ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne ซึ่งทั้งคู่เป็นอาจารย์จาก INSEAD สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับพัฒนาการของแนวคิดทางการจัดการอื่นๆ ที่โด่งดัง อาจารย์ทั้งสองท่านได้ร่วมกันเขียนบทความที่นำไปสู่เรื่องของ Blue Ocean นี้มาในวารสาร Harvard Business Review มาเป็นระยะๆ จนท้ายที่สุดเมื่อตอนต้นปีถึงออกหนังสือเรื่อง Blue Ocean Strategy นี้ขึ้นมา
ก่อนการเดินทางอันไกลโพ้น
ก่อนที่จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ Blue Ocean ก็ต้องพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ Red Ocean กันก่อนครับ การแข่งขันทางธุรกิจที่เราพบเห็นอยู่ทั่วๆ ไปในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ถูกจัดให้เป็น Red Ocean ทั้งสิ้นครับ เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมแต่ละรายก็จะมุ่งเน้นในการเอาชนะคู่แข่งอื่นๆ เพื่อที่จะแย่งชิงลูกค้ามาให้ได้มากที่สุด และทำให้ได้กำไรมากที่สุด และแนวทางที่สำคัญที่จะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ก็คือ จะต้องดูว่าคู่แข่งของเราทำอะไรบ้าง สินค้าและบริการของคู่แข่งเป็นอย่างไร เมื่อคู่แข่งออกสินค้าหรือบริการอะไรใหม่ออกมา เราก็จะต้องทำตามและออกมาบ้างเพื่อไม่ให้น้อยหน้าคู่แข่ง และเมื่อวงจรนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะที่เหมือนๆ กัน หาความแตกต่างได้ลำบาก และนำไปสู่การแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งก็จะไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์หรือเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน คู่แข่งทุกเจ้าในอุตสหกรรมก็จะเกิดการบาดเจ็บเป็นแผล และเลือดไหลซิบๆ ซึ่งก็คือชื่อที่มาของ Red Ocean นั้นเองครับ
ท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆ จะพบว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะของ Red Ocean Strategy กันทั้งสิ้น โดยในระยะแรกความแตกต่างระหว่างสินค้าและบริการของผู้เล่นแต่ละรายยังพอเห็นได้ชัดเจน แต่พอนานๆ เข้า ความแตกต่างระหว่างสินค้าและบริการของแต่ละรายก็จะเหมือนกันทุกๆ ที และสุดท้ายก็จะไปแข่งกันในเรื่องของราคาหรือการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ
ทีนี้เรามาดูเจ้า Blue Ocean กันบ้างครับ หลักการของ Blue Ocean นั้นจะไม่มุ่งเน้นที่จะตอบสนองต่ออุปสงค์ (Demand) ที่มีอยู่ แต่จะเน้นในการสร้างความต้องการหรืออุปสงค์ขึ้นมาใหม่ (Demand Creation) โดยไม่สนใจและให้ความสำคัญกับคู่แข่งเดิมๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรม เป็นการสร้างความต้อง ลูกค้า และอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา ก่อให้เกิดประโยชน์หรือคุณค่าทั้งต่อตัวองค์กรเองและตัวลูกค้า โดยลูกค้าก็จะได้รับคุณค่าที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง ในขณะที่องค์กรเองก็จะลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น และนำไปสู่การเติบโตขององค์กร
ถ้าท่านผู้อ่านยังนึกอุตสาหกรรมที่เกิดจาก Blue Ocean ไม่ออก ก็ลองย้อนกลับไปซักสามสิบปี แล้วดูซิครับว่าอุตสาหกรรมไหนบ้างที่ในปัจจุบันมี และสามสิบปีที่แล้วยังไม่มี ตัวอย่างง่ายๆ เช่นสถานีข่าวยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่าง CNN ที่ในอดีตนั้นสถานีโทรทัศน์ก็จะมีรายการที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ CNN ทำคือสร้างตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาที่นำเสนอข่าวยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน ลูกค้าของ CNN จะเป็นกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ลูกค้าของสถานีโทรทัศน์เดิมๆ ที่มีอยู่ ลูกค้าของ CNN เองจะได้รับคุณค่า (Value) จาก CNN ในลักษณะที่ไม่ได้จากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น และขณะเดียวกัน CNN ก็ไม่จำเป็นต้องแบกต้นทุนที่สูงเกินเหตุเนื่องจากเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นแต่การนำเสนอข่าวเพียงอย่างเดียว
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ทีนี้ตอนที่สายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้นมาใหม่ๆ (สายการบิน Southwest) เราจะเห็นว่าสายการบินต้นทุนต่ำไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแข่งขันกับสายการบินเจ้าเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่พยายามมุ่งตอบสนองต่อผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์หรือรถไฟ
ถ้าย้อนกลับไปดูว่าทำไมการแข่งขันในปัจจุบันถึงได้ออกมาเป็นทะเลแดง (Red Ocean Strategy) ก็คงต้องย้อนกลับมาดูแนวคิดในการบริหารกลยุทธ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันดูนะครับ ท่านผู้อ่านที่ติดตามและศึกษาเรื่องของกลยุทธ์มาตลอดคงจะบอกได้เลยว่าแนวคิดในเรื่องของกลยุทธ์ที่เราใช้กันมากว่าสามสิบปีนั้น เป็นแนวคิดที่สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ Red Ocean หรือการแข่งขันที่เต็มไปด้วยเลือด ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดต่างๆ ทางด้านกลยุทธ์ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากแนวคิดของทหาร เรายอมรับกันโดยทั่วไปว่าตำราทางด้านกลยุทธ์เล่มแรกของโลกคือตำราพิชัยสงครามของซุนวู
นักวิชาการหลายๆ คนเมื่อพูดถึงกลยุทธ์ ก็จะพูดถึงวิธีการในการเอาชนะคู่แข่งขัน และก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีผู้ที่ได้เปรียบทางการแข่งขัน ก็ย่อมจะมีผู้ที่เสียเปรียบจากการแข่งขัน และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่เสียเปรียบนั้นก็จะพยายามลอกเลียนแบบผู้นำในทุกๆ ย่างก้าว แต่พยายามที่จะทำด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งสุดท้ายย่อมนำไปสู่การแข่งขันในด้านราคา และ Red Ocean Strategy ในที่สุด
หลักการของ Blue Ocean Strategy
หลักการของ BOS คือการพยายามหักล้างแนวคิดทางด้านกลยุทธ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเสนอว่าแทนที่จะมุ่งลอกเลียนแบบและเอาชนะคู่แข่งขัน ถ้าองค์กรต้องการที่จะเติบโตจริงๆ จะต้องแสวงหาทะเลแห่งใหม่ แทนที่จะเป็นทะเลที่แดงด้วยเลือดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเขาก็อุปมาเหมือนกับเป็น Blue Ocean Strategy โดยมีแนวทางในการวิเคราะห์อยู่สี่ข้อได้แก่
1) การยกเลิก (Eliminated) ของบางอย่างที่เราเคยคิดว่าลูกค้าต้องการ แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันลูกค้าอาจจะไม่มีความต้องการเลยก็ได้
2) การลด (Reduced) การนำเสนอคุณค่าบางอย่างให้ต่ำกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งเราอาจจะเคยคิดว่าคุณค่านั้นๆ ลูกค้ามีความต้องการมาก แต่จริงๆ อาจจะไม่มากอย่างที่เราคิด
3) การเพิ่ม (Raised) ปัจจัยบางอย่างให้สูงกว่าระดับอุตสาหกรรม และ
4) การสร้าง (Created) คุณค่าบางประการที่ไม่เคยมีการนำเสนอในอุตสาหกรรมมาก่อน
ตัวอย่างที่ใช้และเห็นภาพอย่างชัดเจนคือเครื่องสำอาง Body Shop ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ออกมาท่านผู้อ่านคงจำได้ถึงกระแสความตื่นตัวและตื่นเต้นไปกับแนวคิดของ Body Shop นะครับ รวมทั้งความสำเร็จของ Body Shop ทั้งนี้เนื่องจาก Body Shop ได้ใช้กลยุทธ์ Blue Ocean ในการขายเครื่องสำอางของตนเอง นั้นคือแทนที่จะมุ่งเน้นทำเหมือนคู่แข่งขันรายเดิมๆ ที่อยู่ในธุรกิจเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม หรือ การสร้างภาพลักษณ์ของเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ การใช้ดาราหรือนางแบบชื่อดังมาโฆษณา หรือ การตั้งราคาที่สูง สิ่งที่ Body Shop นำเสนอคือคุณค่าที่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาดเครื่องสำอาง นั้นคือไม่เน้นในเรื่องของบรรจุภัณฑ์และหีบห่อที่สวยงาม (ลดเนื่องจากคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้ามองหา) ไม่เน้นเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชั้นสูง ไม่เน้นภาพลักษณ์ที่หรูหรา แต่เน้นการใช้ส่วนผสมตามธรรมชาติ และการดำรงชีวิตแบบมีสุขภาพที่สมบูรณ์ (Healthy Living)
ดังนั้นท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า Body Shop ไม่ได้เน้นในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายเดิมๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่พยายามนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ ให้ลูกค้า เป็นการสร้าง Blue Ocean ขึ้นมา แทนที่จะมุ่งเน้นแต่ Red Ocean แบบเดิมๆ อย่างไรก็ดีข้อคิดที่สำคัญประการหนึ่งก็คือเมื่อ Body Shop สร้าง Blue Ocean มาได้แล้ว ไม่ช้าไม่นาน ก็จะมีคู่แข่งที่อยากจะเข้ามาในทะเลสีฟ้านี้ด้วยเช่นกัน และเมื่อคู่แข่งเข้ามามากขึ้น และกลยุทธ์ที่ใช้ก็จะไม่หนีกัน ดังนั้นทะเลที่เคยเป็นสีฟ้าของ Body Shop ก็กลายเป็นสีแดงไป และส่งผลต่อการดำเนินงานของ Body Shop ที่ในระยะหลังไม่ประสบความสำเร็จเท่าในอดีต ทำให้พอจะเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญได้เลยนะครับว่า ต่อให้เราสร้าง Blue Ocean ขึ้นมาได้ ไม่ช้าไม่นานคู่แข่งขันใหม่ๆ ก็อยากจะเข้ามา และถ้าไม่ระวังสุดท้ายก็จะเป็น Red Ocean เหมือนเดิม ดังนั้นถ้าต้องการประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง คงต้องคิดหาทางสร้าง Blue Ocean ขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ
ทำอย่างไรถึงจะคิด Blue Ocean Strategy ออกมาได้?
แนวทางแรกคือการให้คิดถึงอุตสาหกรรมทางเลือกอื่นๆ (Alternative Industries) ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเวลาเราคิดและวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์นั้น เรามักจะนึกถึงแต่อุตสาหกรรมทดแทน (Substitute Industry) แต่มักจะไม่ค่อยนึกถึงอุตสาหกรรมทางเลือกอื่นๆ ลองดูตัวอย่างดีกว่านะครับ สมมติว่าเรากำลังวิเคราะห์อุตสาหกรรมโรงภาพยนต์ ท่านผู้อ่านเวลานึกถึงอุตสาหกรรมทดแทนนั้น ก็มักจะนึกถึงร้านเช่าวีซีดี ร้านขายดีวีดี หรือผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี โดยพวกที่เป็นอุตสาหกรรมทดแทนนั้นมักจะมีรูปแบบที่ต่างกัน แต่หน้าที่เหมือนกัน (Different Forms but serve the same functions) ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับร้านเช่าวีซีดี กับโรงภาพยนต์นั้นมีรูปแบบที่ต่างกัน แต่หน้าที่หมือนกัน คือการสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมด้วยภาพยนต์
แต่นี้คือวิธีการคิดแบบเดิมๆ ครับ หลักการของ Blue Ocean นั้นเขาเสนอให้มองที่อุตสาหกรรมทางเลือก นั้นคือมีทั้งรูปแบบที่ต่างกัน หน้าที่ต่างกัน แต่เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เหมือนกัน (Different forms, different functions, but same purpose) จากตัวอย่างเดิมคือโรงภาพยนต์นั้น ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่ามีอุตสาหกรรมไหนบ้างไหมที่เป็นอุตสาหกรรมทดแทน? ถ้าจะบอกว่าอุตสาหกรรมร้านอาหาร ท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรบ้างครับ? ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับ ว่าสมมติท่านไปเดินเล่นที่ห้างและไม่มีอะไรจะทำ ท่านก็คิดไปคิดมาแล้วก็พบว่ามีทางเลือกอยู่สองทาง ทางเลือกแรกคือไปนั่งดูหนังซักสองชั่วโมง หรือ ไปนั่งกินอาหารฟังเพลง? จะเห็นได้ว่า ทั้งร้านอาหารและโรงภาพยนต์นั้น ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ แต่สังเกตดูดีๆ จะพบว่าเวลาเราจะเลือกฆ่าเวลานั้น เรามักจะคิดอยู่ในใจโดยเราไม่รู้ตัวว่าจะไปดูหนังดีหรือไปนั่งกินข้าวฟังเพลงดี?
ทีนี้เมื่อเราหาอุตสาหกรรมทดแทนได้แล้ว ท่านผู้อ่านก็ลองคิดต่อนะครับว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคเลือกระหว่างการไปดูหนังหรือการไปนั่งกินข้าวฟังเพลง? ตรงนี้แหละครับที่จะเป็นแนวทางที่สำคัญที่จะนำไปสู่ Blue Ocean Strategy ถ้าผมเป็นเจ้าของโรงภาพยนต์ และพบว่าสาเหตุที่คนเลือกที่ไปนั่งกินข้าวฟังเพลงมากกว่าการเข้าไปดูหนังนั้น เนื่องจากนั่งกินข้าวฟังเพลงนั้นจะค่อนข้างผ่อนคลาย สบายๆ มากกว่า แต่การดูหนังนั้นต้องนั่งอยู่กับที่ตลอดสองชั่วโมง แถมบางครั้งยังค่อนข้างเกร็งจากบทหนัง และจะพูดคุยกับผู้อื่นก็ไม่ได้ ดังนั้นหลายๆ คนเลยเลือกที่จะไปผ่อนคลายดูการนั่งกินข้าวฟังเพลงมากกว่า ทีนี้พอเราทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว (สมมติว่าข้อมูลข้างต้นเป็นจริงนะครับ) ถ้าเราเป็นเจ้าของโรงภาพยนต์แล้ว จะนำไปมาปรับปรุงโรงภาพยนต์ผมอย่างไรได้บ้างไหม? ผมอาจจะปรับบรรยากาศของโรงหนังที่ผมดูแล ให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ต้องนั่งอยู่กับที่นั่งแคบๆ ตลอดสองชั่วโมง สามารถเดินไปเดินมา หรือเปลี่ยนอริยบท รวมทั้งสามารถพูดคุยกับคนข้างๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าผมทำตามแนวทางดังกล่าวได้ ผมอาจจะสามารถดึงลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบเข้าโรงหนัง ให้กลับมาเข้าโรงหนังอีกครั้งก็ได้นะครับ
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวของวิธีการคิดตามแนวทางของ Blue Ocean Strategy นะครับ นั้นคือเริ่มต้นจากถามตัวเองก่อนว่าอุตสาหกรรมทางเลือก (Alternative Industry) ของอุตสาหกรรมที่ท่านอยู่คืออะไร? และอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าเลือกระหว่างอุตสาหกรรมของท่านและอุตสาหกรรมทางเลือก
เหล่านั้น? สุดท้าย จากข้อมูลที่ท่านได้รับ ท่านจะเลือกเพิ่มหรือลดปัจจัยใดบ้างไหม เพื่อดึงลูกค้าที่ไปแสวงหาอุตสาหกรรมทางเลือกให้กลับมาหาท่าน?
24 September 2007
Blue Ocean Strategy กลยุทธ์เด็ด หรือแฟชั่น
Posted by Trirat at 9/24/2007
Labels: Blue Ocean Strategy Articles
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment